วันศุกร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2551

วันศุกร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2551

กูเกิลเปิดเกมจุดพลุ"iGoogle" คั่นเวลาไร้แม่ทัพดูตลาดไทย แม้จะมีส่วนแบ่งตลาดสืบค้นข้อมูลมากกว่า 95% ในประเทศไทย แต่ผู้บริหารกูเกิลระบุว่ายังไม่สามารถหาตัวผู้บริหารเข้ามาดูแลตลาดไทยแบบเฉพาะเจาะจงได้ในขณะนี้ ล่าสุดกูเกิลจับมือ 8 ศิลปินไทยทำตลาด iGoogle ในประเทศไทย บนจุดประสงค์เดียวคือการเพิ่มคุณค่าประสบการณ์การสืบค้นให้แฟนกูเกิลสามารถใช้งานกูเกิลได้ตามใจชอบ ย้ำไม่มีกลยุทธ์โฆษณาออนไลน์ใดๆแอบแฝง iGoogle นั้นเป็นโฮมเพจแบบปรับแต่งได้ด้วยตนเองของกูเกิล ผู้ใช้ iGoogle จะสามารถเลือกและจัดเรียงเนื้อหาที่ต้องการให้ปรากฏบนโฮมเพจของกูเกิล เพื่อปรับแต่งหน้าเว็บกูเกิลได้แบบส่วนตัว สิ่งที่กูเกิลทำตลาดในประเทศไทยวันนี้ คือการดึงเอา 8 ศิลปิน ดีไซเนอร์ นักแสดง และบุคคลผู้มีชื่อเสียงในประเทศไทยมาร่วมออกแบบธีม (Theme) สำหรับใช้งานบน iGoogle ในชื่อโครงการ iGoogle Artist Campaign ซึ่งเป็นแคมเปญที่กูเกิลเชื่อว่าจะช่วยเพิ่มการใช้งาน iGoogle ในประเทศไทยได้ "ยอมรับว่า ขณะนี้ผู้ใช้งาน iGoogle ในประเทศไทยยังไม่ขยายตัว แม้จำนวนผู้ใช้ Gmail จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยแคมเปญนี้เราทำทั่วโลก ซึ่งในหลายประเทศได้รับผลตอบรับที่ดี" นายเดเร็ก แคลโลว ผู้จัดการฝ่ายการตลาด กูเกิล เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว "สิ่งที่กูเกิลทำคือการทำให้ผู้ใช้รู้ว่าสามารถเลือกเนื้อหาที่ตัวเองต้องการได้อย่างอิสระ เราหวังให้กูเกิลเป็นเว็บที่เหมาะสมกับคนไทยที่สุด และต้องการมอบประสบการณ์ที่ดีขึ้นให้กับส่วนแบ่ง 95 เปอร์เซ็นต์ที่มีอยู่ในประเทศไทย" โครงการ iGoogle Artist Campaign จะเปิดตัวใน 17 ประเทศ 70 ศิลปิน ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่กูเกิลเปิดตัวโครงการเพราะเห็นความหลากหลายของศิลปินเมืองไทย ยืนยันว่าไม่มีกลยุทธ์โฆษณาออนไลน์ใดๆแอบแฝงในโครงการนี้ "เรื่องธุรกิจไม่มีแผนในโครงการนี้ ผู้ใช้ iGoogle สามารถสร้างธีมได้เอง ซึ่งหากมีการนำตราสินค้ามาออกแบบเป็นธีมจริงก็จะปล่อยให้เป็นการตัดสินใจของผู้ใช้ และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจโฆษณาออนไลน์ของกูเกิลใดๆ" แปลว่ากูเกิลจะไม่ยัดเยียดโฆษณาแก่ผู้ใช้แน่นอน "เป็นไปได้ที่พาร์ทเนอร์ในประเทศไทยอาจชื่นชอบแคมเปญนี้ แต่ยืนยันว่านั่นไม่ใช่เหตุผลหลักที่เราทำแคมเปญนี้ขึ้นมา" 8 ศิลปินไทยที่เข้าร่วมโครงการนี้ ได้แก่ หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล, อาจารย์จักรพันธุ์ โปษกฤต, หม่อมหลวงจิราธร จิรประวัติ, ชัย ราชวัตร, อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์, ปราบดา หยุ่น, ชีวิน โกสิยพงษ์ “บอยด์” และ ธนชัย อุชชิน “ป๊อด โมเดิร์นด๊อก” และศักดิ์สิทธิ์ เวชสุภาพร “โต๋” ทั้งหมดร่วมออกแบบให้กูเกิลโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย บางส่วนออกแบบเพื่อใช้กับกูเกิลโดยเฉพาะ บางส่วนใช้ภาพถ่าย ขณะที่บางส่วนนำภาพผลงานที่ตัวเองชื่นชอบมาปรับแต่งใหม่ "แคมเปญต่อไปของกูเกิลเป็นอะไรยังบอกไม่ได้ แต่ชัดเจนว่ายังอยู่ในเรื่องของการสืบค้น" นางสาวพรทิพย์ กองชุน ผู้จัดการพัฒนากลยุทธ์พันธมิตร กูเกิล เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยว่าการหาพันธมิตรในประเทศไทยนั้นยังต้องดำเนินการต่อเนื่อง โดยยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะมีพันธมิตรรายอื่นใดนอกเหนือจากสนุกดอทคอมและเอไอเอสที่เป็นพันธมิตรอยู่ในขณะนี้ สำหรับการแต่งตั้งทีมงานเพื่อดูแลตลาดไทยโดยเฉพาะ นางสาวพรทิพย์ระบุว่ายังไม่มีข้อมูลในจุดนี้แต่ได้ดำเนินการเปิดรับพนักงานตามขั้นตอนของกุเกิลแล้ว ตำแหน่งที่เปิดรับได้แก่ผู้รับผิดชอบเรื่องการทำโฆษณาออนไลน์ การทำตลาด และผู้จัดการผลิตภัณฑ์ประจำประเทศไทย ขณะนี้ยังไม่มีรายชื่อบุคคลที่แน่นอน และการจัดการตลาดไทยทั้งหมดยังอยู่ในส่วนสำนักงานที่ประเทศสิงคโปร์

วันจันทร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2551

วันอาทิตย์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2551

วันอาทิตย์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2551

คุณปู่สร้างเว็บบราวเซอร์ให้หลานออทิสติก Zackary เด็กพิเศษวัย 6 ปี ที่เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างบราวเซอร์พันธุ์ใหม่ Zac Browser For Autistic Children คุณปู่ผู้อยู่ในแวดวงธุรกิจซอฟต์แวร์ทนไม่ไหว เมื่อเห็นหลายชาย 6 ปีซึ่งป่วยเป็นโรคออทิสติกต้องอารมณ์เสียจนขว้างเมาส์คอมพิวเตอร์ทิ้งหลายครั้งที่ไม่สามารถใช้งานคอมพิวเตอร์ได้ดั่งใจ ไหนๆก็เสิร์ชหาโปรแกรมสำหรับเด็กออทิสติกในโลกออนไลน์ไม่พบ จึงลงมือสร้างเองพร้อมใจบุญเผื่อแผ่ให้เด็กที่มีภาวะการเรียนรู้บกพร่องทั่วโลกได้ใช้งานด้วย คุณปู่ใจบุญรายนี้มีชื่อว่า John LeSieur เป็นผู้สร้างโปรแกรมเว็บบราวเซอร์พันธุ์ใหม่ Zac Browser For Autistic Children โดยอุทิศความดีให้กับหลานชายนาม Zackary เด็กพิเศษวัย 6 ปีซึ่งเป็นแรงบันดาลใจในการสร้าง ซึ่งคุณแม่ของหนูน้อยรายงานว่า Zackary สามารถใช้งาน Zac Browser ในการท่องโลกอินเทอร์เน็ตได้ด้วยตนเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่หนูน้อยไม่เคยทำได้แม้จะชื่นชอบการฟังเพลงผ่านโปรแกรมและการเล่นเกมตัวต่อ puzzle ด้วยคอมพิวเตอร์มาตลอด คุณปู่ LeSieur นั้นมองว่า โลกออนไลน์นั้นสร้างโอกาสการเรียนรู้และการสื่อสารที่สำคัญให้กับมนุษย์ก็จริง แต่สำหรับกลุ่มคนที่มีความบกพร่องด้านการเรียนรู้ คอมพิวเตอร์กลายเป็นปัญหาใหม่ที่ครอบครัวต้องปวดหัวเพราะต้องพยายามสอนให้ใช้งาน ซึ่งเมื่อเด็กพิเศษเกิดความผิดหวังในการคลิกหรือกดปุ่มใดๆ อาการชักหรือปฏิกิริยาเฉพาะรายก็จะปรากฎขึ้นทันที คุณปู่ LeSieur จึงพัฒนาให้ Zac Browser ใช้งานง่ายที่สุด ไม่มีฟังก์ชันบล็อกคอนเทนท์ลามกอนาจารสำหรับผู้ใหญ่อย่างที่บราวเซอร์สำหรับเด็กทั่วไปนิยมมี แต่มีฟังก์ชันที่ให้ผู้ปกครองสามารถเลือกเกม เพลง วีดีโอ หรือภาพเสมือนเพื่อสร้างความบันเทิงอย่างสระน้ำจำลอง จากเว็บไซต์ที่ให้บริการฟรีได้ตามต้องการแทน ที่สำคัญ ปู่ LeSieur ฝังคำสั่งลดตัวควบคุมลงเพื่อให้เด็กออทิสติกสามารถควบคุม Zac Browser ได้ง่ายขึ้น เช่น ปุ่มฟังก์ชันต่างๆบนคีย์บอร์ดจะถูก disable เพื่อให้ไม่เกิดผลใดๆบนหน้าจอหากเด็กเผลอกดโดน มีการปิดการทำงานของเมาส์ขวา เพื่อให้เด็กไม่เสียความมั่นใจหากคลิกเมาส์ผิด นอกจากนี้ Zac Browser ยังมีไอคอนขนาดใหญ่กว่าบราวเซอร์ปกติ ไม่มีโฆษณาให้รกจอและไม่มีภาพกระพริบที่ทำให้เด็กเกิดภาวะลมชัก คุณปู่ LeSieur ให้เหตุผลว่าหากไม่มีการควบคุมเช่นนี้ ผู้ป่วยออทิสติกจะเกิดอาการผิดหวังได้ง่าย โดยยอมรับว่า Zac Browser ไม่ได้สร้างขึ้นจากคำแนะนำของนักวิชาการด้านออทิสติก แต่สร้างขึ้นมาเพื่อความต้องการของ Zackary โดยเฉพาะ และต้องการให้บราวเซอร์นี้มีประโยชน์ต่อเด็กที่มีอาการออทิสติกด้วยกัน ซึ่งการพัฒนาโปรแกรมในระยะที่สอง คุณปู่จะเปิดกว้างเพื่อรับความต้องการของผู้ปกครองรายอื่น ว่าต้องการให้ Zac Browser มีคุณสมบัติใดเพิ่มเติม นักวิชาการด้านออทิสติกนั้นแสดงความยินดีเมื่อได้ฟังข่าวการแจ้งเกิดของ Zac Browser และไม่ประหลาดใจว่าโลกออนไลน์ยังขาดแคลนโปรแกรมสำหรับเด็กออทิสติกอย่างหนัก โดยให้ความเห็นว่าอาการออทิสติกนั้นมีหลากหลาย โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ออกแบบสำหรับเด็กออทิสติกแบบครอบคลุมจะเป็นประโยชน์มากกว่า ขณะที่นักวิชาการบางรายให้ความเห็นว่า โปรแกรมบราวเซอร์ยังไม่จำเป็นจำหรับเด็กออทิสติก เพราะเด็กจะไม่สามารถแยกแยะเนื้อหามหาศาลบนโลกออนไลน์ได้ อย่างไรก็ตาม Zac Browser นั้นเปิดให้ใช้งานฟรี ต่างจากซอฟต์แวร์เพื่อเด็กพิเศษทั่วไปที่มีค่าบริการขั้นต่ำ 5,000 เหรียญ ต้องใช้อุปกรณ์เฉพาะทาง คาดว่าจะเป็นประโยชน์ให้กับเด็กพิเศษบางส่วนได้ ข่าวจาก : ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ : 6 มิถุนายน 2551 (http://www.manager.co.th/cyberbiz/default.html) ผู้ส่ง : นางสาวชนกพร บุญศาสตร์ รหัส 51063701